ข้อมูลใหม่ชี้ชัดทำ IF แค่ 5 วันมีผลให้ การเผาผลาญไขมันสูงขึ้น !!

งานวิจัยชี้ทำ IF แค่ 5 วันเพิ่มการเผาผลาญไขมัน (Fat Oxidation) ได้สูงขึ้น !! เอ๊ะ แล้วมีผลต่อการลดไขมันเพิ่มด้วยขึ้นรึเปล่า ?


ข้อมูลใหม่ชี้ชัดทำ IF แค่ 5 วันมีผลให้ การเผาผลาญไขมันสูงขึ้น !!

งานนี้เป็นการศึกษาของ Chen และคณะ (2022) นะครับ [1] ทำแบบ Crossover นะครับ นั่นแปลว่าผลที่เกิดขึ้น ทั้งในตอนทำ IF และตอนทานแบบไม่ได้จำกัดเวลา เป็นผลที่เกิดขึ้นในคนๆเดียวกัน น่าสนใจแล้วใช่ไหมครับ ว่าสิ่งที่เขาพบในงานนี้คืออะไร

Chen และคณะ (2022)

เขาทำการศึกษาเพื่อดูผลของ การทำ IF ต่อเรื่องของผาผลาญไขมัน (Fat Oxidation) ตรงๆเน้นๆเลยนะครับ ว่ามีผลยังไงกับอัตราการเผาผลาญไขมัน (Fat Oxidation rate) ยังไงบ้าง ไม่เท่านั้นครับ เขายังศึกษาต่อไปอีกว่า เผาผลาญไขมันแล้วส่งผลยังไงต่อ ไขมันในเลือด (lipemia) ยังไงบ้าง อ่ะน่าสนใจไปอีก

เพราะว่าเอาจริงๆเราก็คงทราบกันมาก่อนแล้วแหละว่า มีการศึกษาว่าในช่วงที่อดอาหารนั้น Fat Oxidation มันสูงขึ้น แต่หลายๆงานจบลงแค่ตรงนั้น ไม่ได้ไปดูต่อไปว่า แล้ว Fat Oxidation ที่เพิ่มขึ้นมันส่งผลยังไงต่อไปบ้าง หลายคนให้ความสำคัญแต่กับ Fat Oxidation ถ้าสูงขึ้น คือเผาผลาญไขมันมากกว่า มันจบแค่นั้นรึเปล่า อ่ะมาดูกัน

ทำการทดลองในคนกลุ่มไหน ?

งานนี้ทำในคนสุขภาพดี 8 คนนะครับ อายุเฉลี่ย 22 ปี BMI เฉลี่ย 26 ไม่ได้เป็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ก็ไม่ได้มีภาวะโรคอะไรที่ทำให้ออกกำลังกายไม่ได้ (แปลว่าขี้เกียจนั่นเอง ๕๕ หยอกๆ)  เบาหวาน ไขมัน ความดัน โรคหัวใจ ไขข้อ ทุกอย่างปกติหมด

Photo by Moritz Kindler / Unsplash

แล้วทำการทดลอง วัดผลยังไงบ้าง ?

การศึกษาแบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงทำ IF จำกัดเวลาทาน (Time Restricted Feeding, TRF) แบบ 16/8 ยอดนิยม ทำเป็นเวลา 5 วัน ไม่ได้กำหนดให้ลดน้ำหนักนะครับ ให้กินตามระดับปกติสมดุลย์ๆของแต่ละคน อาหารมีให้ตอน 1200 1600 และ 2000

ส่วนอีกช่วงนึงที่ทานแบบไม่ IF (CON) ให้กินตอน 0800 1400 และ 2000 แต่กินตอนไหนก็ได้ จากนั้นในวันที่ 6 ของแต่ละรูปแบบการทาน จะมีการให้มากินอาหารมื้อนึง ซึ่งมีไขมันสูง เพื่อตรวจสอบดูระดับ Triglyceride (TG)

ก่อนเริ่มก็มีการดูการเผาผลาญด้วยวิธี Indirect calorimetry ทั้งขณะพักและขณะออกกำลังกายด้วย Gas analyzer แล้วนำมาคำนวณดูการเผาผลาญนะครับ จากนั้นผู้ร่วมทดลองก็ถูกกำหนดให้ใส่นาฬิกาบันทึกชีพจรไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อนเอาไว้ดูกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ว่าการเผาผลาญจริงๆ ในแต่ละวันประมาณเท่าไหร่ แล้วเอาค่าตรงนี้มากำหนดปริมาณพลังงานอาหารให้แต่ละคนทาน

อาหารที่ทานอย่างที่บอกว่าเขามีให้ และมีการกำหนดโดยนักกำหนดอาหาร พลังงาน และสารอาหารของแต่ละคนจัดให้ตามความเหมาะสม ตามข้อมูลที่ได้มาจากการประเมินการเผาผลาญ

การกินไม่ต่างกันครับ

ทำการทดลองกินในแต่ละแบบครบ 5 วัน ในวันที่ 6 ก็ให้กลับมาวัดการเผาผลาญ และเก็บตัวอย่างเลือดอีกครั้ง แล้วก็ให้กินอาหารที่ไขมันสูงมื้อนึง แล้วให้พัก 4 ชั่วโมง แล้วก็เอากลับมาเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อดูค่า lipid (มันไม่ใช่แค่ไขมันในเลือดนะคับ แต่ให้เข้าใจภาษาที่เข้าใจกันในวงกว้างก็บอกว่าดูไขมันนั่นแหละ)

ผลที่ได้คือ ?

อย่างที่บอกว่ามันเป็น Crossover Study นะครับ ดังนั้นเก็บผลเลือดรอบแรกจบ เขาให้กลับไปทานไม่ได้ควบคุมอะไร 14 วัน ก่อนที่จะสลับไปทำขั้นการทานในอีกรูปแบบนึง แล้วเก็บค่าต่างๆเหมือนที่ทำในตอนแรกอีกรอบ

เล่ามายาวววววขนาดนี้ ต้องมีคนอยากรู้แล้วแน่ๆว่าผลมันจะเป็นยังไง อันดับแรกตามที่จั่วหัวไว้นะครับ ว่า Fat Oxidation ของตอนที่ทำ IF นั้นสูงกว่าตอนที่ทานทั้งวันทั้งคืน และสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติด้วย เย้!!

จะเห็นว่าอัตราการเผาผลาญไขมัน (Fat Oxidation Rate) ตอนทำ IF สูงกว่าชัดเจนนะครับ

ที่นี้มาดูผลเลือดกันบ้างสิว่าเป็นยังไง ปรากฎว่า TG เท่ากันทั้งทำและไม่ทำ IF ครัฟ ระดับน้ำตาลล่ะ ก็ไม่ต่างกัน ระดับ Insulin ก็ไม่ต่างกัน ระดับ Glycerol แทบไม่ต่างกัน ระดับกรดไขมันอิสระ (NEFA) ก็ไม่ต่างกัน ปั๊ดโถ่ว

แต่พอมาดูค่าอื่นๆ แทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย OMG!!

อย่างที่บอกนะครับงานนี้เป็น Crossover ดังนั้นตัดเรื่องว่า ร่างกายฉันไม่เหมือนเธอ ร่างกายเธอไม่เหมือนฉัน เพราะนี่คือร่างกายเดียวกันของทั้งฉันและเธอ ฮิ้ววววว ตัดตรงนี้ออกไปได้เลย ส่วนอาหารที่ทานก็มีการกำหนดให้เหมาะสมตามระดับพลังงานที่วัดได้

ดังนั้นผลที่ได้ก็ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นนะครับ ว่า Fat Oxidation ที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรให้มีการใช้ไขมันมากกว่าเมื่อทานอาหารเข้าไปนะครับ เมื่อดูจากผลเลือดในทุกๆค่าที่เขาศึกษา ค่ามันก็ไม่ได้ต่างกันเลย ปั๊ดโถ่วววว

We were heading towards the village, close to the city in the way, came across kids playing with fire, and then i join them .
Photo by Mohamed Nohassi / Unsplash

แล้ว Fat Oxidation เพิ่มขึ้นทำให้ลดไขมันได้ดีกว่ารึเปล่า ?

จริงๆในเรื่องนี้ก็มีการศึกษาอยู่หลายงานนะครับ ที่พบว่า Fat Oxidation ≠ Fat Loss เช่นในการศึกษาของ Nordy และคณะ (1985) [2] ก็พบว่าการออกกำลังกายแบบ Endurance อย่างเดียวไม่ได้คุมอาหาร ซึ่งทำให้ Peak Fat Oxidation เพิ่มขึ้นมากกว่า (.16 g/min)นั้น ไม่ได้ส่งผลต่อการลดไขมันนัก (+1.8kg) ในขณะเดียวกัน ส่วนกลุ่มที่คุมอาหารอย่างเดียว Fat Oxidation เพิ่มมาน้อยกว่า (0.03 g/min) กลับลดไขมันได้ดีกว่า (-0.9kg)

สรุป

สรุปจากงานของ Chen ก็คือ IF เพิ่ม Fat Oxidation ได้ แต่ก็ไม่ส่งผลอะไรให้ค่าไขมันในเลือด หรือน้ำตาลในเลือดมีความแตกต่างกับตอนไม่ได้ทำ IF เมื่อทานเท่าๆกันนะครับ ในขณะที่จากงานของ Nordy เราก็พบว่า Fat Oxidation ที่มากกว่า ไม่ได้หมายถึงว่าลดไขมันได้มากกว่า แถมยังเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำก็มีได้เช่นกัน ดังนั้น Fat Oxidation ≠ Fat Loss นะครับ

เวลาไปเจอว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ทำให้ Fat Oxidation เพิ่มขึ้นได้ ก็ค่อยๆดูต่อไปอีกนิด ว่ามันช่วยอะไรได้อย่างที่เราคิดมั้ย งานนั้นศึกษาผลของการลดน้ำหนัก ลดไขมันด้วยรึเปล่า แล้วมันให้ผลยังไง อย่าพึ่งรีบหูผึ่งตาโต

Credit ภาพประกอบปกบทความจาก Total Shape

อ้างอิง

  1. Chiu, CH., Chen, CH., Wu, MH. et al. 5 days of time-restricted feeding increases fat oxidation rate but not affect postprandial lipemia: a crossover trial. Sci Rep 12, 9295 (2022). https://doi.org/10.1038/s41598-022-13387-8
  2. Nordby, P., Rosenkilde, M., Ploug, T., Westh, K., Feigh, M., Nielsen, N. B., Helge, J. W., & Stallknecht, B. (2015). Independent effects of endurance training and weight loss on peak fat oxidation in moderately overweight men: a randomized controlled trial. Journal of applied physiology (Bethesda, Md. : 1985), 118(7), 803–810. https://doi.org/10.1152/japplphysiol.00715.2014

GO TOP

🎉 You've successfully subscribed to Fat Fighting!
OK